เพิ่มข้อความเมื่อ : 13:50 05/10/2024
Micromega M100
ส่วนตัวผู้เขียนได้ใช้เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2 มาก่อนเพราะติดใจในความพริ้วและลื่นไหลแบบหาตัวจับยากในระดับราคาเดียวกัน เมื่อได้ทดลองฟัง M100 ก็พบว่าเครื่องเสียงจากดนแดนฝรั่งเศษนี้มีกลิ่นอายของบุคลิกเสียงที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้างส่วน แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์คนละรุ่นและถูกสร้างมาห่างกันเกินกว่าสิบปีแล้วก็ตาม อันแรกสิ่งที่สัมผัสได้คือความแนบเนียนในการนำเสนอรายละเอียดและความสะอาดของพื้นเสียงที่เหนือชั้นกว่าเครื่องในราคาต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด รายละเอียดของเสียงนั้นเหมือนกับถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมีลำดับขั้นและชั้นเชิงที่ปราณีตบรรจง รวมถึงพื้นเสียงที่มีความใสสะอาดไร้ม่านหมอกรบกวนทำให้รายละเอียดยิบย่อยเหล่านั้นมีความชัดเจนดีมาก ความสะอาดของเนื้อเสียงพาลให้ให้คิดถึงแอมป์ดิจิตอลชั้นดี แต่ M-100 จะเจือความอบอุ่นเอาไว้มากกว่า เนื้อเสียงมีความเนียนละเอียดไร้ความแข็งกระด้างอย่างสิ้นเชิง มิติเวทีเสียงมีความเป็นสามมิติตื้นลึกลดหลั่นกันไปไม่แบนเป็นหน้ากระดาน ช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีสามารถแยกแยะออกมาได้ดีและตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีในเวทีเสียงได้นิ่งไม่สับสนตีรวนกันเอง [Test CD 5 / Opus 3 – PCM 16/44.1] ไม่ว่าจะเล่นในระดับความดังสูงหรือแผ่วเบาคุณสมบัติที่กล่าวมาก็ยังคงแสดงออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน
โทนัลบาล้านซ์หรือสมดุลเสียงของ M100 มีความราบเรียบดีมากฟังแล้วไม่รู้สึกว่าหนักไปทางทุ้มหรือแหลมมากเกินไป ถือว่าค่อนข้างมีความเป็นกลางหรือมีโทนเสียงแบบมอร์นิเตอร์ดีทีเดียว สังเกตว่าเราจะสามารถจับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสายสัญญาณ สายไฟเอซี หรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันในระบบได้อย่างง่ายดาย แสดงให้เห็นว่า M100 ไม่ค่อยมีบุคลิกเสียงส่วนตัวมากเท่าไรนัก แต่ในคณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความอิ่มแน่นของตัวเสียงทั้งทุ้มกลางแหลม รวมทั้งความต่อเนื่องลื่นไหลและความพริ้วไหวของปลายเสียงเอาไว้ได้อย่างน่าฟัง [Rain Forest Dream / Joji Hirota – PCM 16/44.1]
จุดเด่นอีกอย่างของ M100 คือการให้ช่วงไดนามิกคอนทราสต์หรือความดัง-เบาของเสียงที่หลากหลายได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงระดับเสียงได้อย่างชัดเจนไม่ว่าในช่วงดังหรือเบา ก่อให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งของบทเพลง โดยเฉพาะเสียงของนักร้องที่ออดอ้อนเจือความหวานละเมียด ส่งผลให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเสียงดนตรีได้เป็นอย่างดี [The Look of Love / Grace Mahya – FLAC 16/44.1] กับบางอัลบั้มสามารถเก็บรายละเอียดของเสียงแผ่วเบาต่าง ๆ ได้หมดจดอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน [AMANDA / Amanda McBroom – PCM 16/44.1] จุดนี้ค่อนข้างโดดเด่นกว่าแอมป์หลาย ๆ ตัวที่เคยได้ฟังมา
ในแง่ของกำลังขับนั้น M100 สามารถขับลำโพงอย่าง Canton Vento 830.2 ออกมาได้เป็นอย่างดี แทบไม่ต่างกับการใช้ชุดปรี-เพาเวอร์ แม้ลำโพง Vento 830.2 ค่อนข้างกินวัตต์พอสมควร แต่ M100 ก็ยังสามารถรีดประสิทธิภาพของลำโพงออกมาได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินคาดสำหรับอินทิเกรตแอมป์ มีกำลังสำรองที่ดีเวลาเสียงโหมขึ้นดังพร้อม ๆ กันอย่างเพลงซิมโฟนีออเครสตร้า [Malcolm Arnold, London Philharmonic Orchestra / Arnold: Overtures – FLAC 16/44.1] ก็ไม่รู้สึกว่ามีอาอารป้อแป้หรืออ่อนแรงแต่อย่างใด ให้ชิ้นดนตรีหลุดลอยออกมาจากตู้ลำโพงได้ดีและตริ่งตำแหน่งได้นิ่งสนิท ปราศจากความอั้นตื้อแม้เล่นในระดับความดังสูง (เมื่อเทียบกับชุดปรี-เพาเวอร์จะให้ความโอ่อ่าของเวทีเสียงและโฟกัสรวมทั้งย่านความถี่ต่ำ ๆ ที่ดีกว่า M100 เล็กน้อย) เมื่อลองจับคู่กับลำโพงความไวต่ำอย่าง NHT 1.5 นั้นขับได้อย่างสบาย ๆ ให้เสียงหลุดตู้และเบสมาเป็นลูก ๆ เลยทีเดียว (อาจจะด้วย NHT 1.5 มีความต้านทานที่ไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก)
สำหรับคนที่ใช้ M100 แนะนำว่าให้จับคู่กับลำโพงความไวสูงสักนิดดูจะเหมาะสมกันที่สุด แต่หากใช้ลำโพงตั้งพื้นหรือลำโพงที่มีโหลดซับซ้อนกว่านี้การขยับไปเล่นรุ่น M150 ที่ให้กำลังขับสูงและมีกำลังสำรองดีกว่าก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เสียดาย M100 ให้ภาคปรีเอ้าท์มาเฉพาะแบบบาล้านซ์เลยไม่ได้มีโอกาสทดสอบร่วมกับเพาเวอร์แอป์ NAD 216THX ดู แต่เชื่อว่าสามารถนำมาใช้เป็นปรีแอมป์ชั้นดีได้แน่นอน
ภาคดิจิตอลอินพุตคุณภาพสูง
การทดลองฟังเสียงจากช่องดิจิตอลอินพุตของ M100 ตลอดช่วงการทดสอบไม่ส่อแสดงอาการแห้งแล้งหรือเกร็งแข็งของเสียงออกมาให้เห็นเลย แสดงให้เห็นว่าวงจร CPLD จัดการกับสัญญาณดิจิตอลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ความละเอียดระดับไหนก็สามารถขุดคุ้ยเอารายละเอียดเสียงทั้งหมดของต้นฉบับออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยปราศจากความเพี้ยนส่วนเกิน ภาค DAC ในตัว M100 นั้นมีคุณภาพดีมากให้โทนเสียงราบเรียบเป็นกลาง มีความสงัดของพิ้นเสียงที่ดี เนื้อเสียงอิ่มแน่นแต่ไม่อวบหนาจนขาดรายละเอียด ให้รายละเอียดหยุมหยิมได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่เน้นเด่นออกมาเกินหน้าเกินตา เจือความอบอุ่นนุ่มนวลของเสียงติดปลายนวมมาเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกฟังสบายและไม่ล้าหู ที่สำคัญให้ความอิ่มแน่นมีน้ำหนักของฐานเสียงและย่านเสียงต่ำได้ดี แนวเสียงแบบนี้น่าจะเป็นที่ถูกหูคนฟังส่วนใหญ่ค่อนข้างตอบสนองแนวเพลงได้หลากหลาย
ส่วนในส่วนการฟังไฟลเพลงไฮ-เรส (โดยเฉพาะไฟล์ DSD ) ผ่านช่อง USB หรือ Ethernet นั้นก็แสดงประสิทธิภาพของไดนามิก ความเนียนสะอาด และรายะเอียดยิบย่อยที่เป็นธรรมชาติของไฟล์ DSD ออกมาได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนใช้สาย USB กับสาย LAN เกรดทั่ว ๆ ไปก็ยังสัมผัสได้ นี่ถ้าได้สายออดิโอเกรดคงจะเห็นอะไรอีกเยอะ [Soft Lights & Sweet Music / Gerry Mulligan, Scott Hamilton – DSD64], [The Eagles / Hotel California – DSD64]
ทดลองนำไปใช้ชมภาพยนตร์ผ่านการเชื่อมต่อทางช่องออพติคอลอินพุต ปรากฏว่าได้อรรถรสดีมาก แม้จะเป็นแค่เสียง PCM มิกซ์ดาว์นสองแชนแนล แต่การถ่ายถอดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยของเอ็ฟเฟกต์ต่าง ๆ อย่างมีชั้นเชิงรวมถึงการถ่ายทอดน้ำเสียงในบทสนทนาของตัวละครต่าง ๆ ได้อย่างเข้าถึงในอารมณ์นั้น หาฟังได้ยากเหลือเกินจากแอมป์เอวีรีซีฟเวอร์ทั่ว ๆ ไปซึ่งส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่ความคมชัดของสนามเสียงและความหนักแน่นเร้าใจ แค่นี้ก็ทำให้การชมภาพยนตร์ได้รสชาดและเพลิดเพลินดีไม่ใช่น้อยเลย (โดยเฉพาะหนังแนวดราม่าหรือซีรียส์ทั้งหลาย)
ภาคเฮดโฟนแอมป์ระดับไฮเอ็นด์
ปกติแล้วผู้เขียนไม่ค่อยให้ความสนใจกับช่องหูฟังที่ติดมากับอินทิเกรตแอมป์เท่าไรนัก เพราะโดยส่วนมากคุณภาพแค่พอฟังได้ซะเป็นส่วนมาก แต่ได้หลังจากได้ลองภาคหูฟังของ M-100 แล้วยอมรับว่าอึ้งไม่ไช่น้อยเพราะคุณภาพมันราวกับแอมป์หูฟังตั้งโตะชั้นดีจริง ๆ แสดงว่าทาง Micromega ต้องพิถีพิถันกับวงจรภาคหูฟังมากพอควร คุณภาพเสียงนั้นถอดแบบมาจากตัวอินทิเกรตแอมป์แทบทั้งหมด ทั้งความสะอาดเนียนละเมียดของตัวเสียง ความกลมเกลี้ยงกระชับแน่นมีน้ำหนัก แยกมิติเลเยอร์ของดนตรีได้เด็ดขาด และมีพื้นเสียงที่เงียบสงัดเอามาก ๆ ผู้เขียนปรับชดเชยความดังขึ้นไปอีก 6 dB ทดลองกับหูฟังแบบฟูลไซส์และแบบอินเอียร์ก็ไม่ได้ยินเสียงรบกวนเล็ดรอดออกมาให้ได้ยินเลยแม้แต่นิดเดียว มีพละกำลังที่สามารถขับหูฟังได้คุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซนต์ เชื่อว่าคุณภาพจากช่องหูฟังของ M-100 นั้นไม่เป็นรองแอมป์หูฟังแบบตั้งโต๊ะระดับต่ำแสนสักกี่มากน้อย
และหากต้องการอัพเกรดภาคหูฟังของ M-100 ให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก ทาง Micromega ก็มีจำหน่ายออพชั่นเสริมเป็นฟังก์ชั่น Binaural Listening ที่สร้างมิติของหูฟังให้เสมือนกับการรับฟังจากลำโพงบ้านจริง ๆ (รายละเอียดสอบถามได้ทางผู้จัดจำหน่าย)
สรุป
ไม่บ่อยนักที่จะได้เจอเครื่องเสียงประเภท All-in-one ซึ่งให้ประสิทธิภาพของแต่ละฟังก์ชั่นนั้นดุจเดียวกับเครื่องแบบแยกชิ้นชั้นดี ในงบประมาณราวสองแสนบาทอาจจะดูสูงแต่หากคำนวณคร่าว ๆ ว่าท่านจะได้อินทิเกรตแอมป์พร้อม DAC แบบไฮ-เรสที่รองรับไฟล์ความละเอียดสูงได้ทุกระดับ รวมทั้งเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ แถมด้วยแอมป์หูฟังระดับไฮเอ็นด์ในตัวด้วยละก็ การใช้เงินไปซื้อแบบแยกชิ้นเพื่อให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกันดูจะใช้งบสูงกว่าพอควร เพราะอย่าลืมเผื่อสำหรับค่าสายสัญญานต่าง ๆ ด้วย อีกทั้งประหยัดพื้นที่ในการจัดวาง เหมาะสำหรับท่านที่ชอบความเรียบง่ายสะดวกสบายแต่ให้คุณภาพเสียงระดับไฮเอ็นด์ รวมถึงดีไซน์ที่กลมกลืนกับการตกแต่งบ้านได้ จับกับลำโพงคุณภาพดีสักคู่เท่านี้ความสุขก็อยู่แค่ปลายนิ้วแล้ว
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
แหล่งโปรแกรม: เครื่องเล่นซีดี Cayin SC 100 CD, แอมป์พกพา Chord Mojo, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso DX80, iPad Mini, PC (NAS)
แอมป์: อินทิเกรตแอมป์ NAD C368, เพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX
ลำโพง: Canton Vento 830.2, NHT 1.5
สายเชื่อมต่อ: สายดิจิตอล USB Furutech Formula 2, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อกTaralabs TL-101, สายไฟเอซี Shunyata Python VX, สายไฟเอซี MIT-Z-Cord, สายลำโพงSupra Ply 3.4
อุปกรณ์เสริม: ปลั๊กผนัง PS Audio Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive QR-8, ขาตั้งลำโพง Atacama HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts
รายละเอียดเชิงเทคนิค
ขนาด : กว้าง : 430 mm ลึก : 350 mm สูง (รวมสไปค์) : 56 mm
น้ำหนัก : 9 kg
บริโภคพลังงาน : 140W
กำลังขับ : 2 x 100W ที่ 8Ohms, 2 x 200W ที่ 4Ohms
อัตราส่วนเสียงต่อสัญญาณรบกวน (S/N Ratio): 106 dB(A) Balanced analog input : 103 dB(A) Unbalanced analog input : 100 dB(A) Phono MM input : Higher than 75 dB(A)
ความต้านทานขาออก : @250Hz under 8 Ohms 15mΩ
แดมปิ้งแฟ็คเตอร์ : > 500
ค่าความเพี้ยนรวม : THD, 8 Ohms, 63 Hz : under 0,001% THD, 8 Ohms, 1 kHz : under 0,005% THD, 8 Ohms, 10 kHz : under 0,05% THD, 4 Ohms, 63 Hz : under 0,001% THD, 4 Ohms, 1 kHz : under 0,01% THD, 4 Ohms, 10 kHz : under 0,07%
การรบกวนข้ามแชนแนล (Crosstalk) : 1kHz under 96dB, 10kHz under 80dB
ความไวขาเข้า : Phono MM, 47 kOhms 12 mVRMS Phono MC, 110 Ohms 1,2 mVRMS Analogue : 1,4 VRMS Balanced : 1,7 VRMS
ผู้เพิ่มข้อความ :
ขอนแก่นไฮไฟ